เอกสารประชาสัมพันธ์

ฮีทสโตรกในสุนัขและแมว


ฮีทสโตรกในสุนัขและแมว

 

สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงอากาศร้อนจัดของประเทศไทย สาเหตุหนึ่งในการเสียชีวิตของสัตว์เลี้ยงที่ควรสังเกต ป้องกัน และเฝ้าระวังอย่างมาก

ฤดูร้อนของไทยในทุกปี มีอุณหภูมิสูง และอากาศร้อนอบอ้าว ทำให้เกิด “ฮีตสโตรก” (โรคลมแดด) โรคประจำฤดูร้อนที่ควรเฝ้าระวังที่สุดในตอนนี้ สามารถคร่าชีวิตของคน และสัตว์ได้โดยไม่ทันตั้งตัว

 

วิธีการสังเกตสุนัขและแมวที่มีอาการฮีตสโตรก 

- อาการหายใจรุนแรง หายใจไม่ทัน อ้าปากค้าง และหอบมากกว่าปกติ

- มีน้ำลายที่ยืด เหนียวมากกว่าปกติ เซื่องซึม นอนอยู่กับที่ไม่ขยับ หรือเดินเซ

- ม่านตาขยาย นิสัยเปลี่ยนไป จำเจ้าของไม่ได้ หรือดุกว่าปกติ ในระยะเวลาสั้นๆ

- ตา เหงือก และลิ้นจะแดงกว่าปกติ หากอาการรุนแรงมากจะมีสีซีด

- อุณหภูมิของสัตว์เลี้ยงจะสูงถึง 40.5 องศาฯ ด้วยการวัดจากปรอททางทวารหนัก หรือการสัมผัส

 

วิธีการป้องกันโรคฮีตสโตรกในสัตว์เลี้ยงเบื้องต้น 

- ในวันที่อากาศร้อนจัด ไม่ควรพาสัตว์เลี้ยงออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน

- ทำกิจกรรมในช่วงแดดร่ม ลมตก และระยะเวลาที่พอดี

- ในช่วงเวลาอากาศร้อนจัด หรือตอนกลางวัน ให้นำสัตว์เลี้ยงเข้ามาภายในบ้าน เปิดพัดลม หรือแอร์ให้สัตว์เลี้ยง

- ควรมีน้ำสะอาดให้สัตว์เลี้ยงได้รับประทานตลอดเวลา

 

ลำดับการปฐมพยาบาลสัตว์เลี้ยงเบื้องต้นจากอาการฮีตสโตรก 

  1. นำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในร่มที่มีลมโกรก หรือสถานที่ที่มีจุดกำบังแดดโดยเร็วที่สุด
  2. ปลดพันธนาการของสัตว์เลี้ยงทั้งหมด (หากมี) เช่น โซ่ สร้อยคอ เสื้อผ้า
  3. นำผ้าเปียกน้ำอุณหภูมิปกติบิดหมาด (ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกิดไป) มาเช็ดให้สัตว์เลี้ยงตามตัว ฝ่าเท้า ขาหนีบ เพื่อคลายความร้อน และปรับอุณหภูมิในร่างกาย
  4. ส่งสัตว์เลี้ยงของเราให้ถึงมือสัตวแพทย์ เพื่อทำการรักษาต่อในลำดับถัดไป

 

ฮีตสโตรก หรือ โรคลมแดด กลายเป็นภัยอันตรายเงียบในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยที่ควรเฝ้าระวังอย่างมากในเวลานี้ ควรหมั่นสังเกตอาการเหล่านี้ให้ดีๆ หากเกิดอาการผิดปกติจะได้มีทางรักษา ปฐมพยาบาล และนำตัวสู่โรงพยาบาลได้ทันท่วงที

 

ด้วยความห่วงใยจาก งานสัตวแพทย์ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองปทุมธานี