สำนักปลัดเทศบาล

ความรู้เรื่องงานทะเบียนราษฎร


สำนักปลัดเทศบาล
ความรู้เรื่องงานทะเบียนราษฎร

 

ความรู้เรื่องงานทะเบียนราษฎร

 

          “เจ้าบ้าน”    หมายความว่า    ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครองบ้านหลังนั้น  ซึ่งการครอบครองนี้อาจจะครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของบ้าน  ผู้เช่า หรือในฐานะอื่นๆก็ตาม  กรณีที่ไม่ปรากฏเจ้าบ้าน  หรือเจ้าบ้านไม่อยู่  ตาย  สูญหาย  สาบสูญ  หรือไม่สามารถปฏิบัติกิจการได้ให้ถือว่าผู้มีหน้าที่ดูแลบ้านในขณะนั้นเป็นเจ้าบ้าน

          “ผู้อยู่ในบ้าน”  หมายความว่า   ผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

          “ผู้มีส่วนได้เสีย”  หมายถึง  เจ้าบ้าน  , ผู้มีชื่อและรายการปรากฏในเอกสารที่จะขอตรวจ  คัด  และรับรองสำเนาเอกสารการทะเบียนราษฎร , บุคคล  หรือนิติบุคคลใดที่มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับเอกสารการทะเบียนราษฎร

          “ทะเบียนบ้าน”  คือ  ทะเบียนบ้านที่นายทะเบียนออกให้บ้านแต่ละหลัง  กำหนดให้มีเลขประจำบ้าน(เลขที่บ้าน) ซึ่งปลูกสร้างโดยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร  หรือมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ปลูกสร้างอาคาร

          “ทะเบียนบ้านชั่วคราว”  คือ  ทะเบียนบ้านที่นายทะเบียนออกให้บ้านที่ปลูกสร้างในที่สาธารณะ  หรือโดยบุกรุกป่าสงวน  หรือไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร  หรือไม่ได้รับเอกสารสิทธิ์  จะได้รับการแก้ไขเป็น  ทะเบียนบ้านชั่วคราวให้เป็นทะเบียนบ้านปกติทำได้หลังจากได้ยื่นเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อเจ้าหน้าที่ครบถ้วน   

                                                        

เจ้าของกรรมสิทธิ์กับเจ้าบ้าน ต่างกันอย่างไร

                    ประชาชนบางรายอาจเกิดความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับความหมายของเจ้าบ้าน  โดยมีความเข้าใจว่าเจ้าบ้าน  หมายถึง  เจ้าของบ้าน ซึ่งเจ้าบ้านตามความหมายของงานทะเบียนราษฎร   มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เป็นเจ้าบ้านมีหน้าที่แจ้ง  และดำเนินการเกี่ยวกับบ้านหลังที่ตนเป็นเจ้าบ้าน ได้แก่  การแจ้งเกิด  การแจ้งตาย  การแจ้งย้ายเข้า   การแจ้งย้ายออก  หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานทะเบียนราษฎร  เจ้าบ้านอาจจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือไม่ก็ได้  โดยเจ้าบ้านอาจเป็นผู้เช่าบ้านหลังที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน  หรือเป็นผู้ดูแลบ้านหลังนั้น  ฯลฯ  การจะดูว่าใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์  สามารถดูจากหลักฐานการได้มาของกรรมสิทธิ์ นั้น  เช่น  หนังสือสัญญาซื้อขาย   พินัยกรรม  หรือคำสั่งศาล  เป็นต้น

 

หน้าที่ของเจ้าบ้าน

                    พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ได้ กำหนดให้เจ้าบ้านมีหน้าที่ต้องแจ้งต่อนายทะเบียน หากไม่แจ้งถือว่ามีความผิด   และมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท   ในเรื่องต่อไปนี้

          1. มีคนเกิดในบ้าน  โดยไม่แจ้งภายใน 15 วัน  นับแต่วันที่เด็กเกิด

          2. มีคนตายในบ้าน  โดยไม่แจ้งการตายภายใน 24 ชั่วโมง  นับแต่เวลาที่บุคคลนั้นตาย  หรือเวลาที่พบศพ

          3. มีคนย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้าน   โดยไม่แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน  15 วัน  นับแต่วันที่ผู้นั้นเข้าอยู่ในบ้าน

          4. มีคนย้ายออกจากบ้าน   โดยไม่แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน  15 วัน  นับแต่วันที่ผู้นั้นย้ายออกจากบ้าน

          5. ไม่แจ้งขอเลขที่บ้านภายใน 15 วัน  นับแต่วันที่สร้างบ้านเสร็จ

          6. ไม่แจ้งรื้อถอนบ้านต่อนายทะเบียนภายใน  15 วัน  นับแต่วันรื้อบ้านเสร็จ  โดยไม่ประสงค์จะปลูกบ้านใหม่ในที่ดินนั้นอีกต่อไป  หรือรื้อเพื่อไปปลูกบ้านที่ดินอื่น 

 

คนที่จะทำหน้าที่เจ้าบ้าน

                    โดยปกติแล้ว เมื่อมีการแจ้งต่อนายทะเบียน นายทะเบียนก็จะตรวจสอบดูว่าคนไปแจ้งนั้นเป็นเจ้าบ้านหรือไม่ โดยดูจาก

          1. บัตรประจำตัวประชาชนของคนแจ้ง พร้อมทะเบียนบ้านที่นำไปแสดงว่า คนที่ไปแจ้งมีชื่อในทะเบียนบ้าน และใน ช่องรายการระบุว่าเป็น "เจ้าบ้าน" หรือไม่

          2. ถ้าไม่ใช่บุคคลตามข้อ 1 ก็จะตรวจดูว่าคนที่ไปแจ้งมีชื่อปรากฎในทะเบียนนั้นหรือไม่ ถ้ามีก็บันทึกปากคำไว้เป็นหลัก ฐาน ถึงสาเหตุที่มาแจ้งแทนเจ้าของบ้าน กรณีที่ ผู้ที่มีรายชื่อในบ้านเป็นผู้เยาว์ หรือเสมือนไร้ความสามารถให้ผู้ปกครองตาม กฎหมาย (บิดา มารดา หรือผู้รับบุตรบุญธรรม) เป็นผู้ทำหน้าที่แทน

          3. ผู้ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านประสงค์จะทำหน้าที่เจ้าบ้านต้องมีหนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน 

          4. แต่ถ้าบ้านหลังนั้นเป็นบ้านว่างไม่มีใครมีชื่ออยู่ในบ้าน ให้คนที่ครอบครอง ดูแลบ้านอยู่ขณะนั้นไปแจ้งต่อนายทะเบียน นายทะเบียนก็จะบันทึกปากคำไว้ และดำเนินการรับแจ้งให้เช่นกัน

 

การมอบหมาย หรือมอบอำนาจ

                    กรณีบุคคลที่มีชื่อและรายการในทะเบียนบ้านระบุว่าเป็นเจ้าบ้านมีหน้าที่ดำเนินการใดๆเกี่ยวกับบ้านหลังที่ตนมีชื่อและรายการบุคคลเป็นเจ้าบ้าน  ได้แก่  การแจ้งเกิด  แจ้งตาย  การแจ้งย้ายที่อยู่  ฯลฯ  ไม่สามารถดำเนินการตามหน้าที่เกี่ยวกับบ้านหลังที่ตนเป็นเจ้าบ้านได้   สามารถมอบหมายหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแทนเจ้าบ้านได้  ดังนี้

 หลักฐานที่ต้องนำไปแสดงกรณีได้มีการมอบหมาย  หรือการมอบอำนาจจากเจ้าบ้าน

          1. หนังสือมอบหมาย  หรือหนังสือมอบอำนาจของเจ้าบ้าน  ระบุรายละเอียดให้ชัดเจน ว่ามอบหมายให้ใครทำอะไร  ลงลายมือชื่อ  หรือลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือข้างขวาของผู้มอบหมาย ,ผู้รับมอบหมายและพยาน  ฉบับจริงให้ครบถ้วนทุกฉบับ จำนวน  1  ชุด

          2. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านปละบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบหมาย  หรือมอบอำนาจ ,ผู้รับมอบหมาย  หรือมอบอำนาจ, พยาน (รับรองสำเนาถูกต้องของเอกสาร  และลงลายมือชื่อ  หรือลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือข้างขวาให้ถูกต้องครบถ้วนทุกฉบับ)  จำนวน  1  ชุด

          3. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน , ผู้รับมอบหมาย  หรือมอบอำนาจจากเจ้าบ้าน  พยาน (รับรองสำเนาถูกต้องของเอกสาร  และลงลายมือชื่อ หรือลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือข้างขวาให้ถูกต้องครบถ้วนทุกฉบับ)  จำนวน  1  ชุด